แมวเหมียวเป็นสัตว์เลี้ยงอันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกันในบ้าน ด้วยนิสัยขี้อ้อน น่ารัก และแสนซน จึงทำให้ใครหลายๆคนต้องหลงรัก แต่ยังมีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแมวหน้าตาบ้องแบ๊วที่คุณอาจจะยังไม่รู้ วันนี้จึงจะนำ 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับน้องแมวแสนซน ซึ่งจะทำให้คุณได้รู้จักแมวเหมียวได้ดีมากยิ่งขึ้น
1. แมวมองเห็นในความมืดได้ดีกว่าคน 6 เท่า
แมวเป็นสัตว์ที่หากินในช่วงพลบค่ำและรุ่งสาง ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันจึงต้องมีสายตาในยามกลางคืนที่ดี ตาของแมวมีเซลล์รูปแท่ง (rod cell) มากกว่าคน 6-8 เท่า ทำให้สายตาของแมวไวในที่มีแสงน้อยมากกว่า อีกทั้งตาของแมวที่มีรูปร่างเป็นวงรีและมีกระจกตาขนาดใหญ่ และมีชั้นเนื้อเยื่อทาพีตัม (tapetum) ที่จะสะท้อนแสงกลับสู่จอเรตินา ช่วยรวมแสงได้ดีขึ้น เนื้อเยื่อทาพีตัมช่วยเลื่อนความยาวคลื่นของแสงที่ตาแมวมองเห็น ทำให้เหยื่อหรือวัตถุอื่นๆ ในตอนกลางคืนดูเด่นชัดมากขึ้น และเซลล์แท่งพิเศษในตาแมวยังช่วยให้แมวมีสัมผัสความเคลื่อนไหวในความมืดได้ดีกว่าที่คนเราจะเห็นได้
2. ลิ้นแมวที่เป็นมากกว่าลิ้น
ลิ้นแมวก็มีหน้าที่รับรสเหมือนกับคน แต่ลิ้นของแมวมีความพิเศษกว่าคนตรงที่มันมีความสากบนลิ้น มีลักษณะเป็นตะขอ ตะขอเหล่านี้มีโครงสร้างเป็นโปรทีน ที่เรียกว่า เคราติน เหมือนกับ เส้นผม และเล็บของเรานั่นแหละ โดยลิ้นสากของแมวมีประโยชน์มากมายใช้แทนหวีทำความสะอาดขนที่ตายแล้วให้หลุดออก ใช้ลิ้นสากในการลอกเศษเนื้อออกจากกระดูกและกาง ใช้ลิ้นสากในการตวัดน้ำ อย่างหมาจะต้องงอลิ้นเป็นตัว J เพื่อจะได้ตวัดน้ำขึ้นมา แต่แมวแค่จุ่มลิ้น แล้วใช้ความสากของลิ้นดึงน้ำขึ้นมากินได้อย่างง่ายดาย แมวสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่มีฟันเลยสักซี่ แต่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่มีลิ้น
3. แมวที่มีขนขาวและตาสีฟ้า มักจะหูหนวก
แมวสีขาวล้วน ดวงตาสีฟ้า และอาการหูหนวกแต่กำเนิดในแมวมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่เนื่องจากชั้น Tapetum Lucidum ซึ่งเป็นชั้นที่ฉาบเนื้อเยื้อในดวงตา ผลิตขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิด stem cell เดียวกับ melamocytes หรือเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีให้แก่ผิวหนังและเส้นขน ขณะที่อาการหูหนวกแต่กำเนิด จะเป็นผลมาจากการขาดแคลนชั้นเซลล์ของหูชั้นใน ซึ่งผลิตขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิดแหล่งดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยแมวตาสองสีจะมีโอกาสหูหนวกเฉพาะหูข้างเดียวกันกับดวงตาสีฟ้า ส่วนหูข้างดวงตาสีเหลืองมักได้ยินปกติ แต่ไม่เสมอไปที่แมวตาสีฟ้าจะหูหนวกโดยกำเนิด โดยเฉพาะหากแมวต่างพ่อต่างแม่ เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับสืบทอดกันมาจากผู้ให้กำเนิด
4. เสียงครางของแมวไม่ได้บ่งบอกว่ามีความสุขเสมอไป
การที่แมวทำเสียงครางนั้น เพราะเป็นเสียงแรกที่แมวสามารถทำได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะในขณะนั้น พวกมันยังไม่สามารถทำเสียงสูง หรือ เสียงต่ำได้ จึงทำให้ได้ยินเสียงครางบ่อยๆ และเข้าใจว่าแมวกำลังมีความสุขนั่นเอง การร้องครางเป็นการส่งเสียงที่ไม่ปกติ เนื่องจากเป็นเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งการหายใจเข้าและหายใจออก การกระตุ้นกล้ามเนื้อบางส่วนในลำคอตามการเคลื่อนไหวของกะบังลมทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศภายในอกของตัวแมว ซึ่งส่งผลให้เกิดเสียงคราง เสียงครางสามารถสื่อสารได้หลากหลายความหมาย เช่น อยากให้แม่แมวมาดูแล ในแมวโตมักส่งเสียงนี้เวลาที่มีความสุข เมื่อเจอกับเจ้าของหรือแมวตัวอื่นที่เป็นมิตร โดยบางตัวอาจแสดงอาการกลิ้งไปมาหรือเอาคางมาถูขณะที่ส่งเสียง ในทางตรงกันข้ามแมวที่บาดเจ็บหรือป่วยหนักมาก ๆ อาจส่งเสียงครางแบบนี้ได้เช่นกัน แต่ลักษณะของเสียงจะยาวและต่อเนื่องมากกว่าปกติ บางครั้งก็จะทำเสียงครางเบาๆก็เพื่อปลอบใจตัวเองเมื่อรู้สึกเจ็บหรือหวาดกลัว